ตลาด-ย่านการค้า ครั้งกรุงเก่า

       เรื่องราวใน “ประวัติศาสตร์” หลายครั้ง ก็มักจะละเลยที่จะกล่าวถึงความสำคัญของตลาด (Markets) และย่านการค้า (Locality) แต่หากความหมายทาง  “มานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์” แล้วล่ะก็  “ตลาด” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) ที่สำคัญเกือบจะที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะตลาดคือ “สถานที่ที่เป็นที่รวมของมนุษย์ในแต่ละกลุ่มชุมชน”  ที่ตั้ง(Place) ชื่อ (Manes) และขนาด(site area) ของตลาด สามารถอธิบายไปถึงชื่อของย่านที่อยู่อาศัยของผู้คน จำนวนประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงสภาพวิถีชีวิตพื้นฐานประจำวัน ความหลากหลายของสินค้าที่มีอยู่ในตลาด สามารถอธิบายได้ถึงกิจกรรมทางสังคม ระดับสังคม อาหารและพืชพรรณ เทคโนโลยี  การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับชุมชน จนไปถึงการติดต่อระหว่างรัฐต่อรัฐ  การค้าขายระหว่างประเทศ ฯลฯ

และเมื่อใดที่เราพบตลาด ๑ แห่ง ก็พึงที่จะสามารถสรุปอุปมาได้ว่า มีชุมชนไพร่ฟ้าตามชื่อตลาดนั้นอยู่ด้วย ๑ – ๒ ชุมชนตรงย่านตลาดนั้น !!!

ภาพวาดจากจินตนาการของชาวต่างประเทศ
ขบวนพยุหยาทตราทางชลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

          ตลาดในกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานบันทึกและคำให้การ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่งของการค้าขายในสยามประเทศและบ้านเมืองรอบข้าง “ไพร่ฟ้า” มีอิสระ( Free ) และเสรีภาพมากกว่าที่เราเคยรับรู้ในประวัติศาสตร์ของระบบไพร่และการควบคุมผู้คน พ่อค้าพาณิชจากต่างประเทศล้วนหลากหลาย มาจากทุกทิศทาง ต่างกลุ่มก็ล้วนมีคลังเก็บสินค้าไว้ใกล้ท่าเรือเพื่อเตรียมนำสินค้าเหล่านั้นออกมาขาย "ปลีก" ให้กับชาวบ้านร้านตลาด ในขณะที่สินค้าที่มีความสำคัญ เป็นที่ต้องการและให้ผลกำไรต่อกันในระดับสูง รัฐและผู้ปกครองจะเข้ามาทำการค้าแบบ "ขายส่ง"กับเหล่าพ่อค้าพาณิชต่างประเทศนั้นอย่างเปิดเผย ตลาดการค้าจึงมิได้จำกัดวงอยู่เพียงเฉพาะตลาดของชนชั้นสูง ไพร่ฟ้าและข้าทาสก็มีโอกาสได้ลิ้มรสและเลือกซื้อเลือกหาอาหารมากประเภท จากชาวบ้านย่านป่าต่าง ๆ ต้องการกินขนมก็ไปป่าขนม ต้องการ ปู ปลาทะเลก็มีตลาดร้านรวงล่องเรือมาขาย  ทั้งยังย่านชาวจีนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่เนืองแน่นทางแถบคลองสวนพลูและทางใต้ของเกาะเมือง ก็มีวิถีชีวิตในการเพาะปลูกและผลิตอาหารประเภทเหล้า ผักนานาพันธุ์และเนื้อหมู มาขายให้กับคนไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงช่วงก่อนมีการพัฒนาระบบชลประทานในประเทศสยามเมื่อเพียง ๑๐๐ ปีที่แล้ว  “ตลาดและย่านการค้า” จึงเป็นหลักฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่จะนำพาให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์แบบชายขอบ มีจินตนาการความคิดและมีความสุขกับภาพวิถีชาวบ้านของชาวกรุงศรีอยุธยาที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ในจิตใจและองค์ความรู้ของเรา

          ลองไล่ ๆ ดูตลาดและย่าน ประกอบกับ “แผนที่” (Mapping) ที่ผมทำขึ้นมาเอง ชี้ให้เห็นจุดที่ตั้งของย่านและป่า (ผู้ผลิต) ภายในกำแพงเมือง(ที่มิอาจต่อรบ) ของกรุงศรีอยุธยา


          ท่านใดกลัว “ตาลาย” ก็อ่านข้าม ๆ ไปก็ได้นะครับ ดูรูปและคำบรรยายประกอบ ก็อาจพอสำหรับท่านที่สนใจเล็ก ๆ แต่ก็อยากรู้ อยากสัมผัสย้อนอดีตด้วย

          เอกสารที่ผมใช้เล่าเรื่องและใช้ศึกษาทำแผนที่มาจากหนังสือ "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง พ.ศ. ๒๕๓๔" ตัวเลขตลาด ป่าและย่าน ที่นำเสนอ จะเรียงตรงกับแผนที่ครับ

           เราไปเที่ยวชมตลาดกรุงศรีอยุธยากันเถอะ !!!


          ตลาดภายในกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ภายในแนวกำแพงพระนคร จากหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (ฉบับหอหลวง) บันทึกไว้ว่า  “ในกำแพงพระนครนั้น มีตลาดหกสิบเอดตลาด ” เป็นตลาด”ของชำ” ๒๑ ตำบล และเป็นตลาด ” ของสด” ขายเช้า – เย็น ๔๐ ตำบล รวม ๖๑ ตำบล แต่เอกสารให้รายชื่อไว้ ๖๔ ตำบล

          ของชำ  หมายถึงสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันและอาหารแห้ง เปิดขายตลอดวัน

          ของสด หมายถึงของเครื่องอาหารคาวหวาน ของสด ๆ เปิดขายเฉพาะตอนเช้ากับตอนเย็น

           ตลาดเหล่านี้มักเรียกตาม "ย่าน" ที่อยู่เรียกว่า "ป่า" ซึ่งได้ชื่อตามประเภทสินค้าที่ขาย เช่นตลาดป่าตะกั่ว อยู่ย่านป่าตะกั่ว ขายเครื่องตะกั่ว ตลาดป่าขนม อยู่ย่านป่าขนม ขายขนม เป็นต้น !!!

           ตลาดในเมือง ๖๑  ตำบล มีอยู่ตามย่านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
          ๑.      ตลาดประตูดิน อยู่ถนนย่านหน้าพระราชวังหลวง ขายของสด เช้า – เย็น
          ๒.      ตลาดท่าขัน อยู่ถนนย่านท่าขัน ริมคลองเมืองด้านเหนือ ขายหมาก พลู กรวยเมี่ยงห่อสำหรับบวชนาค
          ๓.      ตลาดหน้าวังตรา อยู่ย่านถนนหน้าวังตรา มีร้านชำ หุงข้าวแกงขายคนราชการ และขายของสดเช้า – เย็น
          ๔.      ตลาดป่าตะกั่ว อยู่ถนนย่านป่าตะกั่ว มีร้านชำขายลูกแหและเครื่องตะกั่วทั้งหลาย ขายฝ้าย ด้ายขาว ด้ายแดง และมีของสดเช้า – เย็น
          ๕.      ตลาดป่ามะพร้าว อยู่ย่านถนนป่ามะพร้าว ขายมะพร้าวห้าวปลอกเปลือก มะพร้าวอ่อน มะพร้าวเผา
          ๖.      ตลาดผ้าเหลือง อยู่ถนนย่านป่าผ้าเหลือง ขายผ้าไตรและจีวร
          ๗.      ตลาดป่าโทน อยู่ถนนย่านป่าโทน มีร้านขายทับ โทน เรไร ปี่แก้ว จ้องหน่อง เพลี้ย ขลุ่ย หีบไม้อุโลก ไม้ตะแบก ไม้ขนุนใส่ผ้า และขายช้างม้ากระดาษ อู่ เปล ศาลพระภูมิ เจว็ดเขียนเทวรูป เสื่อลำแพน ปลาตะเพียนใบลาน จิงโจ้
          ๘.      ตลาดป่าขนม อยู่ถนนย่านป่าขนม ชาวบ้านย่านนี้ทำขนมขาย นั่งร้านขายขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอหิน ฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่าง ๆ
          ๙.      ตลาดป่าเตรียบ  อยู่ถนนย่านป่าเตรียบ มีร้านขายตะลุ่มมุก ตะลุ่มกระจกและมุกแกมเบื้อ ตะลุ่มเขียนทอง พานกำมะลอ พานเลว พานหมาก
          ๑๐.  ตลาดป่าถ่าน อยู่ถนนย่านป่าถ่าน มีร้านตลาดขายสรรพผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้ม กล้วย ของสวนในและสวนต่าง ๆ รวมทั้งมีร้านขายของสดเช้า – เย็น 
          ๑๑.  ตลาดบริขาร อยู่หน้าวัดมหาธาตุ มีร้านตลาดขายเสื่อตะนาวศรี เสื่อแขก เครื่องอัฐบริขาร เครื่องบวชนาค เครื่องกฐิน คือฝาบาตร เชิงบาตร กราด ตาลปัตร ตะลุ่ม โอ
          ๑๒.   ตลาดขันเงิน อยู่ถนนย่านป่าขันเงิน มีร้านขายขัน ผอบ ตลับซองเครื่องเงินและถมยาดำ กำไลมือและเท้า ปิ่นส้น ปิ่นเข็ม กระจับปิ้ง พริกเทศ ขุนเพ็ด สายสอิ้ง สังวาลทองคำขี้รักและสายลวด
          ๑๓.  ตลาดถนนตีทอง อยู่ถนนย่านป่าทอง มีร้านขายทองคำเปลว คำเปลวเงิน คำเปลวนาค และของสดขายเช้า – เย็น
          ๑๔.  ตลาดป่ายา อยู่ถนนย่านป่าหญ้า มีร้านขายเครื่องเทศเครื่องไทย ครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง
         ๑๕.  ตลาดชีกุน อยู่สะพานชีกุนตะวันตก มีพวกแขกนั่งร้านขายกำไลมือ กำไลเท้า ปิ่นปักผม แหวนหัวมะกล่ำ แหวนหัวแก้ว ลูกปัด เครื่องประดับประดา ล้วนแต่เครื่องทองเหลืองและตะกั่วทั้งสิ้น
          ๑๖.  ตลาดชมภู อยู่ถนนย่านป่าชุมภู มีร้านขายผ้าชุมภู ผ้าคาดรัตคต ผ้าหนังไก่ย่น ผ้าหนังไก่ไกเอ้งปักเถา ผ้าชุมภูเลว ผ้าตีพิมพ์เลข
          ๑๗.  ตลาดไหม อยู่ถนนย่านป่าไหม (ตรงถนนย่านป่าเหล็ก) มีร้านขายไหมครุย ฟั่นไหมเบญจพรรณ ไหมลาว ไหมเขมร ไหมโคราช
          ๑๘.  ตลาดเหล็ก อยู่ถนนย่านป่าเหล็ก (ตรงข้ามถนนย่านป่าไหม) มีร้านขายมีดพร้า ขวาน จอม เสียม พร้าโต้ พร้าหวดหัวตัด ตะปู ตะปลิง บิดหล่า สว่าน เครื่องมือเหล็กมีคมต่าง ๆ
          ๑๙.  ตลาดแฝด อยู่ย่านสะพานหน้าคู (บริเวณถนนย่านป่าไหมกับถนนย่านป่าเหล็ก)มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๒๐.  ตลาดป่าฟูก อยู่ถนนย่านป่าฟูก มีร้านขายฟูก เบาะ เมาะ หมอน มุ้ง ผ้ามุ้งป่าน ผ้าตาโถง ผ้าไส้ปลาไหล ผ้าขาววา
           ๒๑.  ตลาดถุงหมากหรือตลาดป่าผ้าเขียว อยู่ถนนย่านป่าผ้าเขียวหลังคุก มีร้านขายเสื้อเขียว เสื้อขาว เสื้อแดงชมภู เสื้อญี่ปุ่น เสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอก เสื้อสรวมศีรษะ กางเกงสีต่าง ๆ  มีร้านขายล่วมสักลาด ล่วมแพร ล่วมผ้าลายใช้ในราชการใส่หมากกินแต่ผู้ชาย ถุงหมากสักลวดลายปักทองประดับกระจก ถุงหมากเลว  มีถุงยาสูบปักทองประดับกระจก ถุงยาสูบเลว ซองพลูสีต่าง ๆ แล้วรับเอาผ้าแขกจามวัดแก้วฟ้ากับวัดลอดช่องมาใส่ร้านวางขายในตลาดด้วย
          ๒๒.  ตลาดหน้าคุก อยู่ถนนย่านตะแลงแกง มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๒๓.  ตลาดศาลพระกาฬ อยู่ถนนย่านหน้าศาลพระกาฬ มีร้านชำขายหัวไนกับโครงไนสำหรับปั่นฝ้าย
          ๒๔.  ตลาดบ้านช่างเงินกับตลาดคลังสินค้า อยู่ถนนย่านบ้านช่างทำเงิน ตรงหัวถนนมีร้านชำขายหีบฝ้าย น้ำรัก หินปากนกสำหรับตีเหล็กไฟ ตรงสุดถนนมีร้านขายของสดเช้า – เย็นที่หน้าพระคลังสินค้า
          ๒๕.  ตลาดบ้านดินสอ อยู่ถนนย่านป่าดินสอ (ใกล้วัดพระงาม) มีร้านขายดินสอหินอ่อนแก่ ดินสอขาวเหลือง ดินสอดำ
          ๒๖.  ตลาดแหกับตลาดจีน อยู่ถนนย่านบ้านแห มีร้านขายแห เปลป่าน เปลด้ายตะภอ และลวด  มีตลาดขายของคาว ปลาสดเช้า – เย็น อยู่ในบ้านแขกใหญ่ใกล้วัดอำแมชื่อตลาดจีน
          ๒๗.  ตลาดบ้านพราหมณ์ อยู่ถนนย่านบ้านพราหมณ์หน้าวัดช้าง มีตลาดต้นขายกระบุง ตะกร้า กะโล่ ครุ เชือก เสื่อ ลวด เครื่องสารครบ
          ๒๘.  ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ อยู่ถนนย่านชีกุน มีร้านขายดอกไม้เพลิงต่าง ๆ ขายสุราเข้ม สุรากะแช่ ที่ศาลาริมเสาชิงช้ามีร้านตลาดขายของสดเช้า – เย็น ตลาดนี้บางทีก็เรียกตลาดเสาชิงช้าชีกุน
          ๒๙.  ตลาดทำพระ อยู่ถนนย่านบ้านกระชี มีช่างทำพระพุทธรูปทอง เงิน นาค และหล่อด้วยทองเหลือง ทองสำฤทธิ์
          ๓๐.  ตลาดขนมจีน อยู่ถนนย่านขนมจีน มีร้านโรงจีนทำขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง
          ๓๑.  ตลาดประตูจีน อยู่ย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ขายเครื่องทองเหลืองเคลือบและปรอท
          ๓๒.  ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร อยู่ถนนย่านในไก่ อยู่เชิงสะพานประตูจีนไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่ เป็นตลาดใหญ่ยิ่งยวดในกรุง มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีนไทยนั่งร้านขายสรรพสิ่งของ มีเครื่องสำเภา เครื่องทองเหลือง ทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถโอชาม มีแพรสีต่าง ๆ อย่างจีน และไหมสีต่าง ๆ มีเครื่องมือเหล็กและสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ มีของรับปรานเป็นอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีนวางรายในร้านขายที่ท้องตลาด มีของสดขายเช้า –เย็น สุกร เป็ด ไก่ ปลาทะเล ปู หอย ต่าง ๆ หลาย ๆ อย่าง
          ๓๓.  ตลาดน้อย อยู่ถนนย่านสามม้า ตั่งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถุงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภา บริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งจีนต่าง ๆ หลายชนิด หลายอย่าง มีช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ต่าง ๆ ขาย มีช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขาย พวกชาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างนางเลิ้ง คือตุ่มน้ำหรือโอ่งน้ำ มีตลาดขายของสดเช้า - เย็น
          ๓๔.  ตลาดนัดงัวควาย อยู่ถนนย่านป่าทุ่ง บริเวณวัดโคกับวัดกระบือต่อกัน แต่ก่อนโบราณมีพวกมอญ พม่า แขก ฆ่าเป็ด ไก่ ขายในตลาดชุกชุม
           ๓๕.  ตลาดเจ้าจันทร์ อยู่ถนนย่านประตูเจ้าจันทร์ มีตลาดขายของสดเช้า – เย็น
          ๓๖.  ตลาดหอรัตนไชย อยู่ย่านหอรัตนไชย มีของขายเช้า – เย็น
          ๓๗.  ตลาดย่านเตียง อยู่ย่านโรงเตียงท้ายหอรัตนไชย มีพวกจีนทำโต๊ะ เตียง เก้าอี้ถักหวายขาย
          ๓๘.  ตลาดย่านวัดฝาง อยู่ย่านถนนวัดฝางใกล้พระราชวังจันทร์ มีร้านโรงทำหัวไนและโครงไนหีบฝ้ายขาย และมีของสดเช้า – เย็นขายด้วย
           ๓๙.  ตลาดประตูดินวังหน้า อยู่ถนนย่านประตูดิน (ที่ประตูดินพระราชวังจันทน์)มีของสดขายเช้า - เย็น


วังหน้าหรือวังจันทรเกษม
 เคยถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ยุคแรก ๆ ของมณฑลอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5

          ๔๐.  ตลาดท่าวังช้าง อยู่ถนนย่านประตูท่าช้าง ( ที่ประตูท่าช้าง พระราชวังจันทน์)มีของสดขายเช้า – เย็น
          ๔๑.  ตลาดวัดซอง อยู่ถนนย่านวัดซองมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๔๒.  ตลาดท่าขุนนาง อยู่ย่านท่าทรายใกล้ป้อมประตูข้าวเปลือก มีร้านชำขายผ้าสมปักเชิงปูม ผ้าไหม ผ้าลายคุชราชยำมะหวาด สมปักเชิง สมปักล่องจวน สมปักริ้ว และผ้ากราบใหญ่น้อย เมื่อข้าราชการหายไม่ทันจะหามาเปลี่ยนก็ต้องซื้อนุ่งเข้าเฝ้า และมีของสดขายเช้า – เย็น



ประตูช่องกุด "ป้อมประตูข้าวเปลือก" ที่นี่เคยเป็นย่านที่จอแจที่สุดในมหานคร

          ๔๓.  ตลาดข้างวัดคลอง อยู่ถนนเชิงสะพานช้าง บริเวณด้านตะวันออกหน้าวัดคลอง มีร้านขายของสดเช้าเย็น
          ๔๔.  ตลาดเชิงสะพานช้าง อยู่ย่านเชิงสะพานช้าง บริเวณด้านตะวันตกเชิงสะพานช้างมีร้านขายของสดเช้า –เย็น
          ๔๕.  ตลาดมอญ อยู่ย่านหลังวัดนก บริเวณหน้าวัดโพง มีร้านชำไทย มอญ ขายขัน ถาด พานน้อยใหญ่ เครื่องทองเหลืองครบ และมีของสดขายเช้าเย็น
          ๔๖.  ตลาดแลกหน้าวัด อยู่ย่านหน้าวัดมหาธาตุ มีศาลา 5 ห้อง มีแม่ค้ามานั่งคอยซื้อมีดพร้าขวานชำรุด และเหล็กเล็กเหล้กน้อยด้วย มีจีนมานั่งต่อศาลานั้นไปเป็นแถวคอยเอาข้าวพอง ตังเม มาแลกของต่าง ๆ
          ๔๗.  ตลาดเจ้าพรหม อยู่ย่านสาระพากร(สรรพากร) ในและนอกมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๔๘.  ตลาดบ้านสมุด อยู่ถนนย่านป่าสมุด บริเวณวัดพระรามถึงศาลเจ้าหลักเมืองและหน้าวัดลาวกับวัดป่าฝ้าย มีร้านชำขายสมุดกระดาษขาว – ดำ     
          ๔๙.  ตลาดหลังวัดระฆัง อยู่ริมคลองหลังวัดระฆัง มีตลาดขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๐.  ตลาดเชิงสะพานลำเหย อยู่ถนนย่านสะพานลำเหยทางด้านตะวันออก มีขายของสดเช้า - เย็น
          ๕๑.  ตลาดยอด อยู่ย่านปากคลองท่อด้านทิศตะวันตก หน้าวัดวรโพธิ ริมกำแพงโรงไหม มาจนถึงบ้านชาวแตร มีร้านขายของสดเช้า – เย็น    
          ๕๒.  ตลาดประตูห่าน อยู่ถนนย่านประตูห่าน มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๓.  ตลาดหัวเลี้ยว อยู่ย่านปากคลองท่อ (ถัดตลาดยอดที่ปากคลองท่อ) มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๔.  ตลาดสัตกบ อยู่ถนนหน้าประตูสัตกบ มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๕.  ตลาดเลม อยู่ริมคลองฟากหนึ่ง มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๖.  ตลาดหัวสิงห์ อยู่ย่านหน้าวัดสิงห์ มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๕๗.  ตลาดหัวฉาง อยู่ย่านหน้าวัดเกษข้างฉางมหาไชย มีร้านขายของสดเช้า –เย็น
          ๕๘.  ตลาดดอกไม้ อยู่ถนนบ้านลาว มีร้านขายของสรรพดอกไม้สด
          ๕๙.  ตลาดหัวถนน อยู่ถนนย่านป่าเหล็กแถบวัดป่าฝ้าย มีร้านขายของสรรพเครื่องเหล็ก มีดพร้า และมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๖๐.  ตลาดวังไชย อยู่ถนนย่านวังไชย มีช่างทำขันทองเหลืองใหญ่น้อย และมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๖๑.  ตลาดบ้านลาย อยู่ถนนย่านฉะไกรใหญ่ ซื้อไม้ไผ่มาทำเป็นฝาเรือนหอขาย มีร้านขายผ้าลายสุรัศ ผ้าขาว ผ้าฉลาง และมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๖๒.  ตลาดบ้านพัด อยู่ถนนย่านป่าพัด ทำพัดใบโตนดคันกลมและคันแบนใหญ่น้อยขาย และมีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๖๓.  ตลาดขุนโลก อยู่ถนนเชิงสะพานขุนโลก บริเวณหน้าวัดแก้วฟ้า มีร้านขายของสดเช้า – เย็น
          ๖๔.  ตลาดหัวไผ่สะพานแก้ว อยู่เชิงสะพานแก้วหัวไผ่ มีร้านขายของสดเช้า – เย็น


                ตลาดนอกเมือง อยู่รอบเกาะเมืองภายนอกกำแพงพระนคร คำให้การหลวงประดู่ ฯ บันทึกไว้ว่า มีทั้งตลาดน้ำที่ลอยเรืออยู่ในแม่น้ำ และตลาดบกที่อยู่บนบก


           ตลาดน้ำหรือตลาดเรือมี ๔ แห่ง ล้วนเป็นตลาดใหญ่อยู่ในแม่น้ำรอบพระนคร คือ
           ๑.      ตลาดน้ำวนบางกะจะ อยู่บริเวณสามแยกแม่น้ำหน้าวัดพนัญเชิง
           ๒.      ตลาดน้ำปากคลองคูจาม อยู่ใต้วัดพุทไธสวรรค์ ท้ายสุเหร่าแขก
           ๓.      ตลาดน้ำปากคลองคูไม้ร้อง อยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือระหว่างวัดเชิงท่ากับวัดพนมโยง(ยงค์)


"ตลาดน้ำปากคูไม้ร้อง" ตั้งอยู่ใกล้กับอู่เรือพระที่นั่งทางทิศเหนือของเกาะเมือง


           ๔.      ตลาดน้ำปากคลองวัดเดิม อยู่ใต้ศาลเจ้าปูนเถ้าก๋งแถบวัดอโยธยาด้านทิศตะวันออก


           ตลาดบก มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนคร อยู่ตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดตั้งแต่รอบบริเวณขนอนใหญ่ทั้ง ๔ ทิศ รอบกรุงเข้ามา จนฟากฝั่งแม่น้ำตรงกรุง รวมทั้งชานกำแพงกรุงมี ๓๐ ตลาดคือ
     ๑.      ตลาดวัดหน้าพระธาตุ อยู่หลังขนอนบางลาง
     ๒.      ตลาดลาว อยู่เหนือวัดคูหาสวรรค์
     ๓.      ตลาดริมคลองน้ำยา อยู่ทางทิศเหนือแถบพะเนียดคล้องช้าง
     ๔.      ตลาดป่าปลา อยู่เชิงทำนบรอ ย่านหัวรอ
     ๕.      ตลาดหน้าวัดแคลงและวัดสะพานเกลือ อยู่ฝั่งแม่น้ำตรงข้ามวังจันทน์
     ๖.      ตลาดท่าเรือจ้างวัดนางชี อยู่หน้าบ้านโปตุเกส ใกล้วัดประดู่
     ๗.      ตลาดบ้านบาตร อยู่วัดพิไชย ทางทิศตะวันออก
     ๘.      ตลาดวัดจันทนาราม อยู่หลังวัดกล้วย ( ใกล้สถานีรถไฟในปัจจุบัน)
     ๙.      ตลาดหลังตึกห้างวิลันดา อยู่แถววัดหมู ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกหลังวัดพนัญเชิง ชาวบ้านเรียกตึกแดง
     ๑๐.  ตลาดวัดสิงห์ อยู่หน้าตึกญี่ปุ่น บริเวณบ้านญี่ปุ่นใต้วันพนัญเชิง
     ๑๑.  ตลาดวัดทอง อยู่ถนนลายสอง
     ๑๒.  ตลาดวัดท่าราบ อยู่หน้าบ้านเจ้าสัวชี มีตึกแถวยาว16ห้อง สองชั้น ที่ชั้นล่างตั้งร้านขายของ ชั้นบนให้คนอยู่ หัวตลาดมีโรงตีเหล็กและโรงเย็บรองเท้า มีโรงทำยาแดงสูบกล้องขายด้วย
     ๑๓.  ตลาดบ้านปูน อยู่วัดเขียนถนนลายสอ
     ๑๔.  ตลาดบ้านจีน อยู่ปากคลองขุนละคอนไชย ที่นี่มีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรงรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด


วัดไชยวัฒนาราม ใกล้ตลาดบ้านจีนคลองขุนละครไช "รับชำเราแก่บุรุษ"

     ๑๕.  ตลาดบ้านกวนลอดช่อง อยู่ใกล้วัดลอดช่อง ทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก
     ๑๖.  ตลาดท่าเรือจ้างวัดธรรมา อยู่ทางวัดธรรมาราม
     ๑๗.  ตลาดบ้านป้อม ตรงขนอนปากคู อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีป้อมจำปาพล
     ๑๘.  ตลาดแหลมคลองมหานาค อยู่ถนนบัณฑิตย์ ย่านคลองมหานาคใกล้ทุ่งภูเขาทอง เหนือหัวแหลมที่แม่น้ำลพบุรีเดิมไหลไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก
     ๑๙.  ตลาดวัดขุนญวน อยู่ศาลาปูนใกล้คลองเมืองทางภาคเหนือ
     ๒๐.  ตลาดคูไม้ร้อง อยู่หลังโรงเรือพระที่นั่ง ข้างวัดเชิงท่า
     ๒๑.   ตลาดหน้าวัดตะไกร อยู่ฝั่งคลองเมืองด้านทิศเหนือลงมาหน้าวัดพระเมรุ
     ๒๒.  ตลาดข้างวัดควายวัดวัว อยู่ถนนบ้านทำหม้อ
     ๒๓.  ตลาดป่าเหล็ก อยู่หลังบ้านเขมรโยมพระ ใกล้วัดแม่นางปลื้ม
     ๒๔.  ตลาดวัดครุธ อยู่ปลายคลองสระบัวขึ้นไปทางเหนือ
     ๒๕.  ตลาดคลองผ้าลาย อยู่ริมวัดป่าแดงหลังวังฟักเจ้าลาว คลองสระบัว
     ๒๖.  ตลาดริมบ้านโรงกูบ อยู่หน้าวัดกุฎีทอง เยื้องพระราชวังคนละฟากคลองเมืองด้านทิศเหนือ
     ๒๗.  ตลาดวัดโรงคล้อง อยู่ริมคลองเมืองฝั่งเหนือ
     ๒๘.  ตลาดหน้าวัดป่าคนฑี
     ๒๙.  ตลาดบ้านป่าเหล็ก อยู่ท่าโขลง
     ๓๐.  ตลาดวัดมะพร้าว อยู่ริมบ้านญวนทะเล ในคลองหน้าวัดสามพิหาร



พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
บนฐานเดิมของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ 5

ย่านผลิตและขายสิ่งของเครื่องใช้
           การค้าภายนอกกับภายใน นอกจากทำให้เกิดตลาด ทั้งภายในและภายนอกกำแพงพระนครแล้ว ยังทำให้เกิดย่านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ  ในคำให้การหลวงประดู่ทรงธรรม บันทึกไว้ว่า “… ริมแม่น้ำทั้งฝั่งฟากกรุงศรีอยุธยานั้น ข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรทำของต่าง ๆ ขายแลประกอบการค้าขายต่าง ๆ กันเปนหมู่ เปนย่านเปนตำบลมากมาย….” มีประมาณ ๕๒ ตำบลดังนี้

ย่านสำพะนี (มี ๓ ตำบล)
ย่านสำพะนี  ตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกะเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่วขาย
บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ระบุชื่อ) ทำฝาเรือนและเรือนหอด้วยไม้ไผ่กรุกระแชงบ้าง กรุแผง กำบ้าง ทำไว้ขายและรับจ้าง
บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ระบุชื่อ) หล่อเหล็กเป็นครกเป็นสากเหล็กขาย และตั้งเตาตีมีดพร้าและรูปพรรณต่าง ๆ รับจ้างและทำไว้ขาย

ย่านทุ่งขวัญ (มี ๔ ตำบล)
- บ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่ – เล็ก และกระทะ เตาขนมครก ขนมเบื้อง เตาไฟ ตะเกียง ไต้ ตะคัน เชิงไฟ พานพุ่มสีผึ้งถวายพระเข้าพรรษา บาตรดิน กระโถนดิน
บ้านกระเบื้อง ทำกระเบื้องตัวผู้ตัว – เมีย กระเบื้องเกล็ดเต่า กระเบื้องขอ กระเบื้องลูกฟูกขาย

ย่านทุ่งแก้ว ( มี ๗ ตำบล)
- บ้านเกาะขาด หล่อผอบยา เต้าปูนทองเหลือง และเท้าพานไม้ควักปูนสนหงส์ขาย
บ้านวัดครุธ ปั้นนางเลิ้ง(ตุ่มน้ำ) สำหรับใส่น้ำขาย
บ้านริมวัดธรณี เลื่อยกระดานไม้งิ้ว ไม้อุโลกขาย
บ้านริมวัดพร้าว พวกพรามณ์และไทยทำแป้งหอม น้ำมันหอม กระแจ น้ำอบ ธูปกระแจะ ธูปกระดาษ และเครื่องหอมทาขาย
บ้านท่าโขลง ตั้งเตาตีเหล็ก ตะปู ตะปลิงใหญ่น้อยขาย
บ้านคนที ปั้นกระโถนดิน กระถางดินปลูกต้นไม้ และตะคันเชิงไฟ เตาไฟ และปั้นรูปช้าง รูปม้า ตุ๊กตาต่าง ๆ ขาย
บ้านริมวัดโรงฆ้อง แถวถนนหน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ค้าซื้อกล้วยดิบมาบ่มและต้มขาย

นอกย่านต่าง ๆ (มี ๖ ตำบล)
- บ้านนางเลิ้ บ้านหอแปลพระราชสาสน์ ทำกระดาษข่อยและสมุดดำ – ขาวขาย
บ้านคลองธนูเอก อยู่พะเนียด ชาวบ้านตั้งโรงร้านเรือนแพไม้ไผ่สีสุก ไม้รวก ขายเสาใหญ่ – น้อยเป็นไม้แก่น และไม้พรึงรอด
บ้านรามเขาระ บุบาตรเหล็กน้อย – ใหญ่ขาย
บ้านริมวัดพิไชย ต่อหุ่นตะลุ่ม  พานแว่นฟ้าสองชั้นขาย
บ้านนางเอียน ฝั่งกำแพงกรุงเลื่อยไม้สักทำฝาเรือน ปรุงเรือน ฝากระดานและเครื่องสับฝาสำหรวดขาย
บ้านวัดน้ำวน พวกตีตั้งโรงตีเหล็ก ทำขวานหัวเหล็กป้าน และขวานมะลูขาย

          ย่านผลิตและขายสินค้าที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำลำคลองและบนบกมีดังนี้

          เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือ บันทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง สินค้าต่าง ๆ จากฝ่ายเหนือล่องเรือลงมาจอดขายคั้งแต่หน้าวัดกล้วยลงมาจนถึงปากคลองเกาะแก้ว ที่ใต้ปากคลองเกาะแก้วลงมาอีกหน่อย เรือมอญใหญ่ปากกว้าง ๖ – ๗ ศอก พวกมอญบรรทุกมะพร้าวห้าว ไม้แสมทะเล และเกลือขาวมาจอดขาย


          ที่บ้านศาลาเกวียน มีศาลาใหญ่ห้าห้องสองหลังสำหรับเกวียนเมืองนครราชสีมา และเมืองพระตะบองมาจอดที่ศาลานั้น ในฤดูเดือนสาม เดือนสี่ วัวต่างและเกวียนเมืองนครราชสีมาบันทุกสินค้าต่าง ๆ คือน้ำรัก ชี้ผึ้งปีกนก ผ้าตะราง ผ้าสายบัวสี่คืบหน้าเก็บทอง ผ้าตาบัวปอกเตล็ดงา และหนังเนื้อ เอ็นเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่ง ไหม กำยาน ดีบุก หน่อ งาขอป่าต่าง ๆ


          เกวียนเมืองพระตะบองพวกเขมรบันทึกลูกเร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง ดีบุก หน่องา ผ้าปูม แพรญวน ทองพราย พลอยแดง และสินค้าต่าง ๆ ตามอย่างเมืองเขมร

          พวกโคราชและพวกเขมรเอาสินค้ามาขายที่ศาลาเกวียน ถ้ามามากศาลาไม่พออยู่ต้องปลูกกระท่อมอยู่ตามแถบนั้น ศาลานั้นเป็นของเรี่ยไร พวกพ่อค้าเกวียนและลูกค้ารับรวมกันทำขึ้นแล้วซ่อมแซมต่อ ๆ มา ในฤดูลูกค้าต่างและเกวียนมา ชาวบ้านแถบนั้นทำของกินต่าง ๆ ออกนั่งร้านขายเป็นตลาดคราวหนึ่ง

          แถวหน้าวัดสมอ วัดขนุน วัดขนานสามวัด ชาวเมืองอ่างทอง เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองสุพรรณบุรี เอาข้าวเปลือกบรรทุกเรือใหญ่น้อยมาจอดขายที่นั่น และชาวบ้านแถวหน้าวัดทั้งสามตั้งโรงสี โรงกระเดื่อง สีข้าว ซ้อมข้าวขายชาวพระนคร และขายพวกโรงต้มสุรา ถึงฤดูสำเภาเข้าก็ทำข้าวสารขายจีนในสำเภาเป็นเสบียง

          บ้านปากข้าวสาร พวกจีนตั้งโรงต้มสุราและเลี้ยงสุกรขาย

         เรือระแหงแขวงเมืองตาก และเรือหางเหยี่ยวเมืองเพชรบูรณ์ นายมบันทุกครั่ง กำยาน เหล็กหางกุ้ง เหล็กหล่มเลย เหล็กน้ำพี้ ไต้ หวาย ชัน นำมันยาง ยาสูบ เขา หนัง นอ งา สรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมือง มาจอดเรือขายตามแถวปากคลองสวนพลูตลอดมาจนหน้าวัดพนัญเชิง

         บ้านในคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุราเลี้ยงสุกรขาย และทำเส้นหมี่แห้งขาย


วัดพระยาไท วัดใหญ่บนคลองสวนพลู

                   บ้านขนมตาล ชาวบ้านนั้นรับเรือเถาเรือพ่วงไว้ขาย

                   บ้านสกัดน้ำมัน หุงขี้ผึ้งแดง ขี้ผึ้งขาว เชยน้ำมันงาขาย

                   บ้านคลองเกลือ ชาวบ้านนั้นตั้งโรงสีข้าว ซ้อมข้าว ขายพวกโรงสุราและสำเภาจีน

          บ้านญี่ปุ่น ชาวบ้านนั้นเป็นชาวไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่หลังบ้านตึกญี่ปุ่น ชาวบ้านรับกงเรือน้อยใหญ่ กงสำเภาไว้ขาย และรับไม้โกงกางไว้ขายพวกทำฟันสีข้าว

         บ้านข้าวกำแพงนอกกรุง ตรงหัวเลี้ยวตำบลสารพา จีนตั้งโรงย้อมครามผ้าและด้ายขาย

         บ้านน้ำวนบางกะจะ มีเรือกปากใต้ปากกว้างสามวาสิบศอก พวกพ่อค้าจีนและแขกจามทอดสมอขายน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กำมะถัน จันทน์แดง หวายตะค้า กระแซง เคย และสินค้าต่าง ๆ ข้างปากใต้


หลวงพ่อโตวัดพะนางเชิง หน้าตลาดน้ำวน "บางกะจะ"
ตลาดน้ำที่หนาแน่นด้วยสินค้าแปลกใหม่จากต่างประเทศและชาวจีน

         และแถวนั้นมีแพลอยพวกลูกค้าไทย จีน แขกเทศ แขกจาม นั่งร้านแพขายสรรพสิ่งของต่าง ๆ กันทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดาราม ตลอดลงมาจนหน้าพระราชวังหลัง แถวนี้เป็นฝั่งพระนคร

         แต่ฝั่งตรงข้ามพระนครนั้นแพจอดตั้งแต่ท้ายวัดพนัญเชิงตลอดมาจนท้ายวัดพุทไธสวรรย์ และเลยไปจอดเป็นระยะจนหน้าวัดไชยวัฒนาราม

         และแม่น้ำตรงตลอดมีแพลูกค้าพานิชจอดฝั่งตะวันตกตั่งแต่ปากคลองตะเคียนเรี่ยรายขึ้นมาถึงหน้าวัดแขกตะเกี่ยมีชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดกฎบางกะจะ

        ตรงวัดพนัญเชิงฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ท้ายเกาะเรียนมีแพจอดเรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้าม มีแพชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดพนัญเชิง

         ประมาณแพแต่บริเวณกรุงศรีอยุธยารอบพระนครนั้น ราวสัก ๒๐,๐๐๐ เศษ ทั้งแพอยู่และแพค้าขายในแขวงจังหวัดรอบกรุงอีกไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ เศษ

         ครั้นถึงฤดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เป็นมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน และลูกค้าแขกสลุปลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราชและพวกลูกค้าแขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศฝรั่งเศส ฝรั่งโลกสง โปตุเกศ วิลันดา สเปน อังกฤษ และฝรั่งดำ ฝรั่งเรือรังกุนี แขกเกาะ เป็นพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้น มาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยาตามที่ของตนซื้อและเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา

         ที่ท่าประตูหอย มีเรือลูกค้าชาวเลมาจอดขายหอยแมงพู่ หอยตะพง ปูทะเล แมงดา ปลาทะเลย่างและสดบ้าง


        ย่านป่าจาก ขายเชือกกระแชงหวายใต้ชันน้ำมันยางหมันเรือตามร้านเรือแพ และมีเรือปากกว้างแปดศอกสิบศอกบันทุกจากมาจอดขาย

         ย่านบ้านริมวัดขุนพรม ชาวบ้านย่านนั้นเอาผ้าขาวเทศมาเขียนพิมพ์ ตีพิมพ์เป็นดอกผ้าลายน้ำจืดขาย

         บ้านต่อโลงไม้อุโลก สำหรับใส่ศพไว้ขายก็หลายบ้าน

         ย่านบ้านท่ากายี นอกกำแพงกรุงเป็นบ้านแขกเก่า พวกแขกนั้นฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเป็นสายสมอเส้นหนึ่งบ้าง ยาวสามสิบวาบ้าง ลางทีทำยาวถึงห้าสิบวา ขายแก่นายกำปั่นสลุปสำเภา และฟั่นชุดจุดบุหรี่ด้วยเปลือกมะพร้าวขายขุนนางและราษฎรที่ต้องการใช้และทำบุญ

         ย่านบ้านท้ายคู พวกแขกจามสานเสื่อลันไตผืนใหญ่น้อยขายและสมุกขาย
         พวกแขกชวามลายู บันทุกหมากเกาะ และหวายตะคร้ากระแชงเตย สรรพเครื่องสินค้าปากใต้ บรรทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวามาทอดสมอขายอยู่ที่ตรงปากคลองคูจาม

         บ้านท่าราบ รับพเนียงหูไว้ขาย และพวกลูกค้าจีนแขก ฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา โปรตุเกส พวกนี้รับซื้อไว้ใส่ครามใส่ปูน

         บ้านสกัดน้ำมัน หลังวัดพุทไธสวรรค์ พวกนั้นตีสกัดน้ำมันงาและน้ำมันลูกไม้ขาย

         บ้านเชิงฉะไกร นอกกำแพงพระนคร ชาวบ้านนั้นตั้งโรงร้านขายเสาไม้เต็ง ไม้รัง และไม้รอดพลึง ไม้ไผ่ป่า ไม้รวก ไม้ลาย มาแต่บ้านอัมพวา

         เรือปากใต้ปากกว้าง ๖ ศอก ๗ ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลมเมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูนและบ้านบางทะลุบันทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเลา ปลากะพง ปลาทู ปลากะเบนย่าง มาจอดเรือขายแถวท้ายวัดพนัญเชิง

         บ้านปูนริมวัดเขียน ทำปูนแดงขาย

         บ้านพระกราน ชาวบ้านจับปลาหมอเกราะหามมาเร่ขายบ้าง ใส่เรือมาเร่ขายบ้าง ในฤดูตรุษสงกรานต์ ชาวกรุงซื้อปล่อยทำการบุญ

         บ้านริมวัดลอดช่อง พวกแขกตานีทอผ้าไหม ผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงดอกขาย

          บ้านหน้าวัดราชพลีวัดธรรมา ทำโลงไม้สัก ไม้อุโลก และเครื่องศพสำหรับศพต่าง ๆ ไว้ขาย

         บ้านป้อมหัวแหลม พวกแขกเก่าและลาวเก่าจับนกอังชันแลนกกระจาบฆ่าตายเที่ยวเร่ขายและจับนกสีชมภู นกปากตะกั่ว นกแดงอิฐ นกกระทิ นกกระจาบเป็น ๆ ใส่กรงขังไปเที่ยวเร่ขายให้ชาวพระนครซื้อปล่อยเมื่อฤดูเทศกาลตรุษสงกรานต์ที่แม่น้ำหัวแหลมหน้าวัดภูเขาทอง

         ใต้ศาลเจ้านางหินลอย พวกจีนตั้งโรงต้มสุราและเลี้ยงสุกรขาย

         เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองสวรรคโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือบันทุกสินค้าต่าง ๆ จากฝ่ายเหนือมาจอดเรือขายริมแม่น้ำและในคลองใหญ่วัดมหาธาตุในเทศกาลหน้าน้ำ


พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

          เที่ยว “สัมผัสย้อนเวลา” วันอาทิตย์กับ Blogger  ศุภศรุต คงไม่ทำให้ใครเหนื่อยอ่อนเกินไปนะครับ หุ หุ

          คราวหน้าหากคุณมีโอกาสได้ไป “ตลาด” หรือไปท่องเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก็อย่าลืมตื่นเช้า ไปเที่ยวตลาดเช้าของบ้านเมืองนั้น ๆ แต่ก็อย่ามัวจับจ่ายซื้อของกินของใช้แต่เพียงอย่างเดียวนะครับ ลองหันไปมองดูรอบ ๆ ตัว สูดกลิ่นอายที่ผสมผสานขึ้นจากความหลากหลายของ "ผู้คน" ที่มาปะทะสังสรรค์กันที่ตลาด มองดูสิ่งอื่น ๆ ที่มีมากกว่าแค่เพียงสินค้าและของแปรรูป

          “ตลาด” จึงเป็นสถานที่สะสม "ความมหัศจรรย์" มาในทุกยุคทุกสมัย และหากเราเข้าใจ ที่จะมองปรากฏการณ์ให้มากกว่าแค่ “กรอบ” ของสถานที่และการค้าขายแล้ว  คุณก็จะได้พบและเข้าใจกับคำว่า “วัฒนธรรม” ได้มากกว่าที่เคยเข้าใจ เพราะ “ตลาด” คือหลักฐานที่ยังมีชีวิตโลดแล่น และดำรงควบคู่กับสังคมมนุษย์ต่อไปอีกนานแสนนานครับ

ขอบคุณ ข้อมูลดีๆ จาก
ศุภศรุต







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น